พลโท สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานนำผู้บังคับหน่วยขึ้นตรง และหน่วยรอง กองทัพภาคที่ 2 และข้าราชการในกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 โดยมีอดีตผู้บังคับบัญชาและ สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองทัพภาคที่ 2 ร่วมกิจกรรมวันสถาปนา กองทัพภาคที่ 2 ครบรอบปีที่ 74 ที่บริเวณกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนถานค่ายสุรนารี, พิธีสักการะบูชาพระพุทธวิชัยเสนีย์นาถและพระนครราช, พิธีสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(หน้าประตูค่ายสุรนารี), พิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, พิธีสักการะพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 , พิธีสักการะอนุสาวรีย์วีรไทย, พิธีทำบุญตักบาตร, พิธีบำเพ็ญกุศล และพิธีมอบเครื่องแต่งกายและเครื่องอุปโภคบริโภคให้กำลังพล
กองทัพภาคที่ 2 มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ นำกำลัง 1 กองร้อย (ประมาณ 28 คน) เข้ามาปราบโจรผู้ร้ายในเมืองนครราชสีมา ใช้ชื่อว่า “กองทหารรักษาเมืองนครราชสีมา” ในปี พ.ศ.2435 ซึ่งได้มีการเพิ่มเติมกำลังและจัดวางรากฐานที่ตั้งหน่วยเป็นการถาวร เรียกว่า “กรมทหารราบที่ 5”
.
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับหน่วยเป็นกองทัพที่ 3 และเปลี่ยนแปลงที่ตั้งหน่วยมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน (ค่ายสุรนารี) ในปี พ.ศ.2446 หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกำลังตามสถานการณ์บ้านเมืองหลายครั้ง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2491 กองทัพบกได้จัดตั้งกองทัพที่ 2 ขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2491 มีกองพลที่ 3 เป็นหน่วยขึ้นตรง และตั้งกองพลที่ 6 เพิ่มขึ้นที่อุบลราชธานี ปี พ.ศ.2500 กองทัพบกมีคำสั่งให้ยุบกองทัพที่ 2 และกองพลที่ 6 แปรสภาพเป็นภาคทหารบกที่ 2
ต่อมาในปี พ.ศ.2501กองทัพบกมีคำสั่งให้แปรสภาพ ภาคทหารบกที่ 2 เป็นกองทัพภาคที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหารทั้งสิ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งส่วนกำลังรบและส่วนภูมิภาค ดังนั้น กองทัพภาคที่ 2 จึงถือเอาวันที่ 4 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2491 มีผลบังคับใช้
พื้นที่ความรับผิดชอบกองทัพภาคที่ 2 เป็นเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา รวมความยาว 1,552 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าภูเขา มีแนวทางการเคลื่อนที่จำกัด ถือว่าเป็นพื้นที่ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศ
กองทัพภาคที่ 2 จึงมีเกียรติประวัติการรบในหลายสมรภูมิ เหล่าทหารหาญแห่ง กองทัพภาคที่ 2 ต้องเสียสละเลือดเนื้อ พลีชีพเพื่อชาติไปเป็นจำนวนมาก ทั้งในสงครามอินโดจีน การรักษาอธิปไตยที่เป็นดินแดนของไทย กรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมของต่างชาติ สงครามมหาเอเชียบูรพา การส่งทหารไป ร่วมรบกับญี่ปุ่นในสหรัฐไทยเดิม ทางตอนบนของประเทศ
นอกจากนั้นยังมีภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ อันเนื่องมาจากปัญหาเส้นเขตแดน และการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดนบ่อยครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ยุทธการช่องพระพะลัย, ช่องตาตุม, ช่องโอบก, ช่องบก, การป้องกันอธิปไตยบริเวณแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ในกรณีปราสาทพระวิหาร และปราสาทตาเมือน – ปราสาทตาควาย
ซึ่งวีรชนแห่งกองทัพภาคที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องรักษาแผ่นดินไทย ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ เพื่อปกป้องอธิปไตย และคุ้มครองดูแลประชาชนในพื้นที่ ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังดำเนินงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ควบคู่กับงานด้านการทหารอีกด้วย
ยามศึกเรารบ ยามสงบเราพัฒนา จึงกลายเป็นคติในการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพภาคที่ 2 โดยการปฏิบัติงานสนองพระราชดำริโครงการต่างๆ ในภาคอีสานซึ่งยังประโยชน์ให้แก่อาณาประชาราษฎร์ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ทหารยังมีบทบาทในการพัฒนาประเทศหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงการบรรเทาความเดือดร้อน ในภาวะที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งนี้ ก็เป็นการสร้างความสงบสุข สร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการรักษาชาติไทยให้มั่นคงสืบไป และ กองทัพภาคที่ 2 มุ่งมั่นในการพิทักษ์รักษาเอกราช ผลประโยชน์ของชาติ เพื่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน
194