บทความประชาสัมพันธ์

“กระจกตาอักเสบ” โรคควรระวังของสาวรักแฟชั่น

     ในปัจจุบันมีรายงานการใช้คอนแทคเลนส์ที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งชนิดที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง รวมถึงชนิดที่ใช้เพื่อความสวยงาม ได้แก่ คอนแทคเลนส์ตาโต (Big eyes) คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา (Colored contact lens) คอนแทคเลนส์คอสเพลย์ (Cosplay) ที่มีลวดลายต่างๆ

ซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน แม้ว่าคอนแทคเลนส์จะมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมบุคลิกภาพและสร้างความมั่นใจให้ผู้สวมใส่ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นการใช้ชีวิตประจำวัน แต่กลับมีข้อมูลที่ชี้ว่ามีผู้สวมใส่จำนวนมากที่มิได้ตระหนักถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นและหลายครั้งมีความรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียดวงตาได้ถ้าเกิดการอักเสบติดเชื้อที่กระจกตา

พญ.สมพร จันทรา จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า กระจกตา นับเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความบอบบางเป็นอย่างมาก เพราะกระจกตามีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อใส อยู่ในส่วนหน้าสุดของลูกตา มีรูปร่างโค้ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีหน้าที่หักเหแสงเพื่อให้ตาเรามองเห็น แต่ด้วยลักษณะเฉพาะของกระจกตาที่มีความบอบบางเช่นเดียวกับเนื้อเยื่ออ่อนอื่นๆ ในร่างกาย จึงมีความเสี่ยงต่อการอักเสบได้สูง โดยเรียกอาการอักเสบของเนื้อเยื่อกระจกตาว่า “โรคกระจกตาอักเสบ” ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ และพบได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการติดเชื้อจากพฤติกรรมเสี่ยงหรือการไม่ติดเชื้อ อันเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น

จากข้อมูลทางสถิติล่าสุดระหว่าง ปี 2550 -2554 โดยมหาวิทยาลัยรามาธิบดี พบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อกระจกตา 435 ราย และยังคงมีแนวโน้มของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากจะมีสาเหตุจากการมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับดวงตา เช่น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา และเป็นที่น่าสนใจว่าสาเหตุที่พบมากในปัจจุบันขึ้นคือการใช้คอนแทคเลนส์ โดยพบมากในกลุ่มอายุระหว่าง 15-25 ปี

อาการของโรคกระจกตาอักเสบ ได้แก่ ตาแดง เจ็บตา มีขี้ตา ตามัว สู้แสงไม่ได้ มีน้ำตาไหลมากตลอดเวลา เมื่อตรวจตาอาจพบมีแผลจุดขาวที่กระจกตา กระจกตาฝ้า กระจกตาบาง บวม มีหนองในช่องหน้าม่านตา โดยอาการและความเร็วของการดำเนินโรคจะขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่น กระจกตาทะลุ การอักเสบลุกลามเข้าไปในน้ำวุ้นตา ต้อหินแทรกซ้อน ต้อกระจกแทรกซ้อน และในบางรายอาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับการรักษาจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความรุนแรงของโรค โดยมีการรักษาที่สำคัญ คือ การหยอดยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยเป็นรุนแรงอาจต้องหยอดยาทุก 15 นาทีในระยะแรกและลดความถี่เมื่อมีอาการดีขึ้น ในกรณีที่การติดเชื้อรุนแรงและลงในชั้นลึกของกระจกตาแพทย์จำเป็นต้องฉีดยาเข้ากระจกตาเพื่อบรรเทาอาการ ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้เนื่องจากมีแผลมีขนาดใหญ่ ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ดื้อต่อการใช้ยา หรือกระจกตาทะลุ อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อตัดเอากระจกตาที่ติดเชื้อออก

การป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตาโดยทั่วไปคือ รักษาความสะอาดและสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ใส่แว่นตานิรภัยที่มีกระจกกันกระแทกด้านข้างเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานที่อาจเกิดอันตรายกับดวงตา หรือรักษาและควบคุมโรคประจำตัวอย่างเช่นเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแลพดูแลสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง

แต่สำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ที่ต้องมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตาสูง ควรมีการดูแลและป้องกัน ดังนี้

1.การตรวจตาจากจักษุแพทย์ เพื่อประเมินว่าตนเองมีโรคที่พึงระวังในการใส่คอนแทคเลนส์หรือไม่ เช่น โรคตาแห้ง โรคภูมิแพ้ โรคตาอักเสบ ซึ่งบางโรคจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาเป็นประจำซึ่งอาจมีผลกับการใส่คอนแทคเลนส์ สำหรับการตรวจค่าสายตา ค่าความโค้งของกระจกตาเพื่อเลือกชนิด ขนาดของเลนส์และค่าสายตาที่เหมาะสม พร้อมรับฟังแนะนำการดูแลรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ

2.การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ ควรเลือกจากสถานที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการอนุญาตนำเข้าคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้อง หากเป็นผู้รับมาจำหน่ายต่อก็ควรมีหนังสือรับรองจากบริษัทผู้ผลิตว่าเป็นคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐานและถูกกฎหมาย รวมถึงไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์มือสองที่ผ่านการใช้งานหรือมีรอยเปิดบรรจุภัณฑ์มาก่อน

3.ศึกษาขั้นตอนการใช้งานที่ถูกต้องและการทำความสะอาด โดยควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์เสมอ พร้อมปฏิบัติตามวิธีการล้างคอนแทคเลนส์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ล้างด้วยน้ำปะปาหรือน้ำเกลือเพียงอย่างเดียว

4.ใช้คอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรักษาความสะอาดของตลับแช่เลนส์โดยล้างสบู่ให้สะอาดผึ่งให้แห้งทุกครั้งหลังใช้งานและควรเปลี่ยนตลับใหม่ทุกเดือน

5.ใส่คอนแทคเลนส์เฉพาะเวลาที่จำเป็น ควรใส่คอนแทคเลนส์ด้วยจำนวนชั่วโมงที่น้อยที่สุด แต่ไม่ควรนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และควรมีเวลาพักตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องใช้สายตาอย่างเช่น วันหยุด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระจกตาขาดออกซิเจน ภาวะเส้นเลือดงอกใหม่ที่กระจกตา เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ

“การตระหนักถึงสัญญาณบอกอาการเสี่ยงเป็นโรคกระจกตาอักเสบเป็นสิ่งที่สำคัญ และเมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฎิชีวนะมาใช้เองเพื่อหลีกเลี่ยงการดื้อยาในอนาคต แต่ควรรีบพบจักษุแพทย์อย่างเร็วที่สุด เนื่องจากการรักษาในระยะแรกเริ่มมักจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ทั้งยังช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นและการสูญเสียดวงตาได้มากยิ่งขึ้น” พญ.สมพร กล่าว

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

วิดเจ็ต

Our Visitor

0 9 3 0 8 9
Views Today : 41
Views Yesterday : 73
Views Last 30 days : 11021
Total views : 490071