26 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 เนื่องจากในช่วงนั้นสัตว์ป่าถูกล่าเป็นจำนวนมาก จนทำให้จำนวนสัตว์ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสัตว์ป่าในขณะนั้น มีเพียงพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า ร.ศ. 1199 (พ.ศ. 2443) ยังไม่มีการคุ้มครองสัตว์ป่าอื่น ๆ
จากการที่สัตว์ป่าถูกทำลายและถูกล่าเป็นจำนวนมาก ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นได้ตรากฎหมายว่า ด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้น คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 โดยมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงลงนามในพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2503
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เนื่องจาก เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประกอบกับได้มีการตกลงระหว่างประเทศในการที่จะร่วมมือกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของท้องถิ่น หรืออนุสัญญาไซเตส (CITES) จึงมีการปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ
ในอดีตประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลยังไม่ถูกรุกราน จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาเมื่อมีการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ สัตว์ป่าจึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยม โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการส่งนอแรด งาช้าง และของป่าไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ชีวิตสัตว์ป่าเริ่มถูกรุกรานและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนต้องออกกฎหมายควบคุม โดยกฎหมายฉบับแรกเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อบังคับใช้ในการล่าช้างป่า
กระทั่งต่อมาในยุคมืดของสัตว์ป่า เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่ใช้ในสงคราม ได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นอาวุธของผู้ชื่นชอบการล่าสัตว์ป่า ขณะที่การพัฒนาประเทศและการเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่สัตว์ป่าบางชนิด เช่น สมัน ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย