ข่าวประชาสัมพันธ์ ทภ.2

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงารตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา

     พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ติดตามผลการดำเนินงารตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการโครงการต่างๆ ในพื้นที่ โดยมี พลตรี ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม รองแม่ทัพภาคที่ 2 ให้การต้อนรับและติดตามในพื้นที่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562

     นายกฯ เป็นประธานพิธีเปิดสถานีรถไฟขอนแก่น เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางราง กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ระบุโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ภาคอีสานมีความแข็งแรง มั่นคง ขอประชาชนมีความสามัคคีเพื่อประเทศชาติ ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

     วันนี้ (13 มีนาคม 2562) เวลา 09.30 น. ณ สถานีรถไฟขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดสถานีรถไฟขอนแก่น โดยมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่กว่า 6,000 คน ร่วมเป็นสักขีพยาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลว่า เมื่อรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ จนประสบความสำเร็จ อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปลดธงแดง ICAO การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การจัดสรรที่ดินเพื่อทำกินกับประชาชนอย่างถูกกฎหมาย โดยไกล่เกลี่ยเอาโฉนดที่ดินจากนายทุน – ผู้มีอิทธิพล คืนแก่พี่น้องเกษตรกร 15,000 ราย เป็นที่ดินรวมกว่า 37,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการรับเรื่องราวร้องเรียนผ่าน “ศูนย์ดำรงธรรม” ในจังหวัดขอนแก่น มีเรื่องร้องเรียน กว่า 518,248 เรื่องและได้รับการแก้ปัญหาแล้ว 517,075 เรื่อง โดย 1,173 เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงทรัพยากร จัดตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ผู้ด้อยโอกาส ทั้งหมดนี้เพราะรัฐบาลมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

รัฐบาลยังห่วงใย​ปัญหาปากท้องและสวัสดิการเจ็บป่วย โดยได้เร่งขยายโครงการประชารัฐสวัสดิการ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) เพื่อประชาชน 14 ล้านคน (รวมคนพิการ) ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจังหวัดขอนแก่น มีจำนวนผู้มีสิทธิ 452,986 คน และใช้สิทธิผ่านเครื่อง EDC ของร้านธงฟ้า และผ่าน Application ถุงเงิน รวมทั้งสิ้น 1,686 ร้านค้า เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มงบประมาณรายหัวขึ้นเป็น 3,600 บาท ริเริ่มระบบ UCEP สำหรับทุกคน สายด่วน 1669 ทั่วประเทศ เข้ารักษาฟรี ทันที ทุกสิทธิ ทุกโรงพยาบาลให้พ้นวิกฤต และบริการสุขภาพอื่น ๆ เช่น นักบริบาลชุมชนดูแลผู้ป่วยติดเตียง ทีมหมอครอบครัวให้บริการสุขภาพถึงบ้านอย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ทุกหมู่บ้าน “ทั่วประเทศ” เข้าถึงโอกาสในการพัฒนา เข้าถึงโอกาสการบริการภาครัฐ ใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา สร้างอาชีพและรายได้ เกิดการค้าออนไลน์ เกษตรกรขายของเองได้ทั่วโลก สินค้า OTOP ส่งออกได้เอง ไม่ต้องพึ่งคนกลาง ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รัฐบาลยังเห็นความสำคัญในการแก้​ปัญหาที่ดินทำกิน – แหล่งน้ำ – ต้นทุนการผลิต – ปฏิรูปการเกษตรอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพิ่มผลผลิต อาทิ ด้วยเกษตรแปลงใหญ่ ดูแลสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ข้าวโพด ปาล์ม ยางพารา ลำไย ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป และส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้แบบแปลงรวม โดยมอบเอกสารสิทธิ์เข้าทำกินในที่ดินของรัฐ กว่า 310,000 ไร่ พัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ กว่า 5 ล้านไร่ เมื่อเกษตรกรรวมตัวกัน จะมีอำนาจต่อรองไม่ถูกกดราคาพืชผล ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนรวมกลุ่มสหกรณ์การเกษตร – วิสาหกิจชุมชน สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ Agri Map เพื่อวางแผนการเพาะปลูก ออกกฎหมายป่าชุมชน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่า และใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้ ปลดล็อกกฎหมายป่าไม้ ให้ประชาชนปลูก “ไม้มีค่า” ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เป็นการออมเงิน รัฐบาลนี้มุ่งมั่นจะเพิ่มปริมาณน้ำและพื้นที่ป่าทั่วประเทศและภาคอีสาน เพื่อจัดการปัญหาภัยแล้ง

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลเร่งยกระดับโครงข่ายคมนาคม เพราะเมื่อถนนมา รถไฟมา ความเจริญก็จะตามมา ทั้งการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา (บางปะอิน – โคราช) ระยะทาง 196 กิโลเมตร เป็นรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 4 – 6 ช่องทางจราจร จะสามารถเปิดบริการให้พี่น้องประชาชนได้ในต้นปี 2566 พร้อมกับเร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง 324 กิโลเมตร คือ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สายพัทยา – มาบตาพุด และ สายบางปะอิน – โคราช เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางอีก 3,085 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไทย – จีน) ให้พี่น้องชาวอีสานได้ใช้ก่อน วันข้างหน้าลูกหลานก็จะได้ไม่ต้องไปหางานในเมืองหลวง หรือต่างบ้านต่างเมือง และโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วของการสัญจรทางราง และในอนาคตมีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 3,688 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟทั้งสิ้น 8,526 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 49 จังหวัด แบ่งเป็นทางคู่ 7,324 กิโลเมตร และทางเดี่ยวอีก 1,202 กิโลเมตร

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ามาตรวจราชการทุกครั้งมีแต่ความสุขและความยินดี เพราะคิดถึงประชาชนทุกจังหวัด โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ภาคอีสานมีความแข็งแรงและมั่นคง และกล่าวขอให้ประชาชนมีความสามัคคี อย่าขัดแย้งกัน เพื่อประเทศชาติ เพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รัฐบาลพร้อมนำคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าก้าวเดินไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการรวมพลังของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีชมนิทรรศการและวีดิทัศน์ความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการ CY Call โครงการขนส่งมวลชน ของจังหวัดขอนแก่น โครงการการก่อสร้างโครงข่ายทางถนนของกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น

     วันนี้ (13 มีนาคม 2562) เวลา 11.05 น. ณ สถานีรถไฟขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำรัฐมนตรีเดินขึ้นไปยังบนชานชาลาบนทางยกระดับ ณ สถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานีรถไฟลอยฟ้าในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ – ขอนแก่น เพื่อนั่งรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีขอนแก่น ไปยังสถานีรถไฟท่าพระ ระยะทาง 10 กม. โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที โดยมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้าราชการและประชนในพื้นที่ร่วมโดยสารรถไฟขบวนพิเศษนี้ด้วย

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน Action Plan ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 มีระยะทางก่อสร้างรวมทั้งหมด 187 กิโลเมตร รวม 18 สถานี โดยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 และมีความคืบหน้า โดยได้ทยอยเปิดให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งสถานีขอนแก่นเป็น 1 ใน 2 สถานีที่เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้า ที่มีการก่อสร้างโดยยกระดับสูงขึ้นจากพื้นดิน ซึ่งเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ จุดตัดเสมอระดับทางรถไฟกับรถยนต์ เมื่อโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่นจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที และช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจากเดิม 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี

     โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมสถานีรถไฟขอนแก่นว่ามีความทันสมัย พร้อมเดินทักทายประชาชนและสื่อมวลชนร่วมขบวนอย่างเป็นกันเอง สำหรับสถานีขอนแก่น ในอนาคตอันใกล้จะรองรับผู้โดยสารจากขบวนรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อม 3 ประเทศ จีน สปป. ลาว สถานีท่าพระ จะเป็นศูนย์กระจายและรับส่งพัสดุที่สำคัญของภาคอีสานด้วย

จากนั้นในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นประธานในงาน “One Transport for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียวเพื่อประชาชนทุกคน” ณ หอประชุมอาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต่อไป

     วันนี้ (13 มีนาคม 2562) เวลา 14.00 น. ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตำบลในเมือง จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ สักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้น เดินทางต่อไปสักการะศาลหลักเมืองนครราชสีมา เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะเดินทางไปยังสถานีรถไฟนครราชสีมา ตรวจติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางราง ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไทย สปป.ลาว และจีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 และช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยกระทรวงคมนาคมร่วมสร้างโครงการ “โคราช เมืองน่าอยู่” ดำเนินการพัฒนารถไฟรางเบา พลิกโฉมระบบขนส่งมวลชนในเมือง เชื่อมระบบราง สร้างระบบเมือง รวมระยะทาง 50.09 กิโลเมตร จำนวน 3 เส้นทาง 3 ระยะ พร้อมยกระดับทางหลวงในโคราชเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา ก่อสร้างเสร็จแล้ว 67% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565 นี้ โดยได้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการดำเนินโครงการต่าง ๆ พร้อมกล่าวว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำเพื่อประชาชน ให้ประชาชนมีความสะดวกสะบายในการเดินทางสัญจร

เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในงาน “One Transport for all 2019 Mobility Connect Technology : คมนาคมสร้างสุขให้อีสานบ้านเฮา” ณ หอประชุมอาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

     วันนี้ (13 มีนาคม 2562) เวลา 15.30 น. ณ หอประชุมอาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงาน “One Transport for all 2019 Mobility Connect Technology : คมนาคมสร้างสุขให้อีสานบ้านเฮา” และเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสือโครงการป่าชุมชนให้แก่ผู้แทนป่าชุมชน โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าสำนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้าร่วม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้อ่านกลอนที่แต่งให้กับชาวโคราชว่า “วันนี้แสนสุขใจ เติมหัวใจถึงถิ่นเยือน คิดถึงไม่ลืมเลือน ใจคอยเตือนให้กลับมา โคราชถิ่นบ้านเกิด จะชูเชิดให้สุขมา ทุกอย่างต้องก้าวไกล ทำด้วยใจขอสัญญา” พร้อมกล่าวกับประชาชนตอนหนึ่งว่า รู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่ได้มาพบกับพี่น้องประชาชน ได้มาทำความเข้าใจ และติดตามความก้าวหน้าการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่  โดยขอขอบคุณการทำงานภายใต้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วน ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อยากจะบอกว่า “รักทุกคน รักทุกจังหวัด รักคนไทยทั้งประเทศ” ซึ่งตนเองมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นอย่างนี้ ไม่หวังประโยชน์ ไม่สืบทอดอำนาจ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า อยากให้ทบทวนความยากลำบากในอดีต สำรวจความสุขในวันนี้ และมองความสำเร็จ ความหวังในวันข้างหน้า ซึ่งจากการรับเรื่องราวผ่าน “ศูนย์ดำรงธรรม” ทำให้รู้ว่าพี่น้องประชาชนลำบาก มีปัญหา ต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องอะไร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการร้องเรียนกว่า 4 ล้านเรื่อง และได้รับการแก้ไขไปแล้วเกือบ 100% ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้นอกระบบ รัฐบาลได้เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ดำเนินการไกล่เกลี่ยนำโฉนดที่ดินจากนายทุน – ผู้มีอิทธิพลคืนพี่น้องเกษตรกรกว่า 15,000 ราย เป็นที่ดินรวมกว่า 37,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 16,000 กว่าล้านบาท เฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีมากกว่า 600 ราย

ในส่วนของปัญหาเรื่องปากท้อง สวัสดิการเจ็บป่วย รัฐบาลจัดให้มีโครงการสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได รวมถึงเพิ่มเบี้ยยังชีพความพิการ ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาล รัฐบาลยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มงบประมาณรายหัวเป็น 3,600 บาท สำหรับดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคน เป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 สำหรับพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็มีระบบ UCEP โทรสายด่วน 1669 สามารถเข้ารักษาฟรีทันทีทุกสิทธิ ทุกโรงพยาบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศว่า รัฐบาลมีแผนงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำปี 2563 ในวงเงิน 100,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะมีแผนแม่บททั้ง 6 ด้าน สำหรับการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำเดิม และแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บการสร้างแหล่งกักเก็บ การบริหารจัดการน้ำสำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีแหล่งน้ำสำคัญ 2 แหล่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และอ่างเก็บน้ำลำแชะ ซึ่งได้ปรับปรุงระบบท่อส่งที่ชำรุด จัดหาแหล่งน้ำดิบใหม่เพิ่มเติมรองรับการเพิ่มของประชากร เพิ่มประสิทธิภาพการประปาส่วนภูมิภาค โดยจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มสระน้ำดิบ เช่น โรงกรองท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

ในส่วนปัญหาเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงเทศกาล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พี่น้องชาวอีสานใช้เวลาในการเดินทางกลับบ้านยาวนานมาก วันนี้รัฐบาลได้เข้ามาแก้ไขสร้างมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง จะสามารถเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2566 นี้ นอกจากนี้ ยังได้สร้างทางเลี่ยงเมืองโคราช ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ลดการจราจรติดขัดในเมือง เชื่อมต่อทางหลวงหลัก 3 สาย ซึ่งเปิดบริการไปแล้วในปี 2560 และต่อไปการพัฒนาโครงข่ายถนน รัฐบาลได้เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ระยะทาง 324 กิโลเมตร คือ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สายพัทยา – มาบตาพุด และสายบางปะอิน – โคราช โดยในปี 2562 – 2565 มีแผนผลักดันมอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง 221 กิโลเมตร ขยาย 4 ช่องจราจร 1,429 กิโลเมตร และเปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยางอีก 3,085 กิโลเมตร ในปี 2562 – 2565 มีแผนจะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าทางคู่อีก 9 เส้นทาง 2,164 กิโลเมตร เพิ่มโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง 1,234 กิโลเมตร หลังจากที่ประเทศไทยแทบจะไม่มีการสร้างทางรถไฟมานานกว่า 100 ปี

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร้องเพลงคำสัญญาของวงอินโดจีน และเพลง “หยุดตรงนี้ที่เธอ” ของ ฟอร์ด สบชัย ไกรยูรเสน พร้อมกับกล่าวว่า หยุดตรงนี้ที่เธอ เพราะเธอนั้นแสนดี เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีพบปะทักทายประชาชนพร้อมร้องเพลงคำสัญญาอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเยี่ยมชมนิทรรศการงาน “One Transport for all 2019 Mobility Connect Technology : คมนาคมสร้างสุขให้อีสานบ้านเฮา”  โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งานดังกล่าวจะเป็นการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของระบบคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 เพื่อลดต้นทุนการบริหารระบบขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ภายใต้นโยบาย One Transport for All “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เชื่อมโยงระบบคมนาคมทุกระบบอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง

 

——————–

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

วิดเจ็ต

สร้าง QR Code ภายใต้โดเมน ทภ.2 คลิ๊ก

Our Visitor

0 9 2 9 6 4
Views Today : 16
Views Yesterday : 123
Views Last 30 days : 5898
Total views : 452351