ข่าวประชาสัมพันธ์ ทภ.2 ข่าวประชาสัมพันธ์หน่วย

20 พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ

     20 พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์ท่านได้ทรงพระอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้าที่จะให้คนไทยมีความรู้ความสามารถในกิจการทหารเรือ เพื่อเข้ารับราชการแทนชาวต่างประเทศสมตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาได้โดยสมบูรณ์และด้วยพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านที่ได้รับทรงบากบั่นก่อสร้างกองทัพเรือไทยให้แข็งแกร่งขึ้นนี้จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พระองค์ท่านได้รับการขนานนามจากกองทัพเรือ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ว่า “พระบิดาของกองทัพเรือไทย”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗) ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยต่อมาเรียกว่า “โรงเรียนทหารเรือ” โดยมีความมุ่งหมายว่าผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้แล้วย่อมจะได้รับพระราชทานยศเป็นนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตร
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสร็จมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนนายเรือ ร.ศ. ๑๒๕” ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลายพระราชหัตถเลขา ไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ดังนี้
” วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายน่า “
ทุก ๆ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายนของทุกปี วันนี้ถูกกำหนดให้เป็น “วันกองทัพเรือ” ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “กองทัพเรือ” ซึ่งเป็นอีกกองรบหนึ่งที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชนชาวไทย ตั้งแต่สมัยอดีตกาล
กำเนิดกองทัพเรือ
กองทัพเรือมีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทย นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียว มิได้แบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่น ในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า “ทัพบก” หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า “ทัพเรือ” การจัดระเบียบ การปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติ สมัยนั้นยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหาร “ทัพบก” และ “ทัพเรือ” รวม ๆ กันไป
     ในการยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักร หรือนอกอาณาจักร ก็มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหาร เครื่องศาสตราวุธเรือ นอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก ๆ เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำ แล้วจึงยกทัพต่อไปบนทางบก
เรือรบที่เป็นพาหนะของกองทัพไทยสมัยโบราณ มี ๒ ประเภท ด้วยกันคือ เรือรบในแม่น้ำ และเรือรบในทะเล เมื่อสันนิษฐานจากลักษณะที่ตั้งของราชธานี ซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบ และมีแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางในการคมนาคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องใช้น้ำในการบริโภคและการเกษตรกรรมแล้ว เรือรบในแม่น้ำคงมีมาก่อนเรือรบในทะเล เพราะสงครามของไทยในระยะแรก ๆ จะเป็นการทำสงครามในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวคือ เป็นการทำสงครามกับพม่าเป็นส่วนมาก
สำหรับเรือรบนั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ…
เรือรบในแม่น้ำ
     ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๖-๒๐๘๙) ทรงยกกองทัพ ไปตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยคืนจากพม่า ใน พ.ศ. ๒๐๘๑ ต่อจากนั้นไทยก็ได้ทำศึกสงครามกับพม่ามาโดยตลอด เรือรบในแม่น้ำในสมัยนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะใช้ทำศึกสงครามมากกว่าเรือรบในทางทะเล เรือรบในแม่น้ำเริ่มต้นมาจากเรือพาย เรือแจวก่อน เท่าที่พบหลักฐานไทยได้ใช้เรือรบประเภทเรือแซ เป็นเรือรบในแม่น้ำ เพื่อใช้ในการลำเลียงทหารและเสบียงอาหารมาช้านาน โดยใช้พาย ๒๐ พายเป็นกำลังขับเคลื่อนให้เรือแล่นไป
     เรือรบในทะเล
สำหรับเรือรบในทะเล ในสมัยแรกยังไม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะเท่าเรือรบในแม่น้ำ เนื่องจากลักษณะที่ตั้งตัวราชธานีอยู่ไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา ความจำเป็นในการใช้เรือจึงมีน้อยกว่าในยามปกติ ก็นำเอาเรือที่ใช้ในทะเลมาเป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายยังหัวเมืองชายทะเลต่าง ๆ และประเทศข้างเคียง ครั้นเมื่อบ้านเมืองมีศึกสงครามก็นำเรือเหล่านี้มาติดอาวุธปืนใหญ่เพื่อใช้ทำสงคราม
แต่ครั้งโบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยได้เริ่มใช้เรือรบในทะเลในการทำศึกสงครามบ้างแล้ว เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองบันทายมาศ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ เป็นต้น ส่วนเรือรบในทะเลจะมีเรือประเภทใดบ้างยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า คงจะเป็นเรือใบหลายประเภทด้วยกัน ถ้าเป็นเรือขนาดใหญ่ส่วนมากจะเป็นเรือสำเภาแบบจีน เรือกำปั่นแปลง แต่ถ้าเป็นเรือขนาดย่อมลงมาจะเป็นเรือสำปั้นแปลง เรือแบบญวน เรือฉลอม เรือเป็ดทะเล และเรือแบบแขก เป็นต้น

วิดเจ็ต

Our Visitor

0 9 3 0 9 2
Views Today : 963
Views Yesterday : 1025
Views Last 30 days : 13072
Total views : 492122